เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo)
การรักษาเวียนศรีษะ บ้านหมุน 
อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย เป็นความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป รู้สึกว่าตัวผู้ป่วยเองหมุนหรือไหวไป ทั้งๆที่ตัวผู้ป่วยเองอยู่เฉยๆ ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการรับข้อมูล หรือการเสียสมดุลของระบบประสาททรงตัวของร่างกายเนื่องจาก อวัยวะการทรงตัวและอวัยวะการได้ยิน อยู่ใกล้ชิดสัมพันธ์กันจากหูไปสู่สมอง โรคของระบบทรงตัวจึงมักสัมพันธ์กับการเสียการได้ยิน หูอื้อ และมีเสียงดังรบกวนในหูได้ เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ มักจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา (ตากระตุก หรือ nystagmus) การเซ การล้ม อาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตกร่วมด้วยได้
อาการเวียนศีรษะ สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ 
☀ กลุ่มที่มีอาการมึนหัว คือ “รู้สึกเวียนหัวเพียงอย่างเดียว” ไม่มีอาการบ้านหมุนๆ หรือสิ่งรอบตัวหมุน รู้สึกมึนงง เบาๆ ลอยๆ และมีอาการหน้ามืดหรือวูบได้ง่าย กลุ่มอาการเวียนหัวแบบนี้ เกิดจากแรงดันเลือดและปริมาณเลือดที่ส่งไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ พบในผู้สูงอายุหรือมีภาวะโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือโรคเบาหวาน และอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา
☀ กลุ่มที่มีอาการหลอนของการเคลื่อนไหว ผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้ จะรู้สึกว่าทุกสิ่งรอบๆ ตัวหมุนโดยที่ตัวเราอยู่นิ่ง คล้ายกับเมาเหล้า ทำให้เสียการทรงตัว เดินไม่สะดวก และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเวียนหัวในกลุ่มนี้เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและสมดุลต่างๆ ในร่างกาย เช่น โรคนิ่วในหูชั้นใน โรคแรงดันน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน หรือมีการติดเชื้อลึกเข้าไปหูชั้นใน เป็นต้น โดยแพทย์จะเรียกอาการในกลุ่มนี้ว่า Vertigo
สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ
- ☀ โรคก้อนหินปูนเคลื่อนที่ในหูชั้นใน (benign paroxysmal positional vertigo หรือ BPPV)
- ☀ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease)
- ☀ การอักเสบจากหูชั้นนอก หูชั้นกลางอักเสบ หรือ การติดเชื้อของหูชั้นใน
- ☀ โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ
- ☀ การดำน้ำ การขึ้นหรือลงที่สูง
- ☀ การบาดเจ็บที่ศีรษะ การได้รับแรงกระแทก เกิดการบาดเจ็บจากเสียงดัง
- ☀ โรคของทางเดินประสาทและสมองอื่นๆ
สาเหตุทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ เช่น
- 1. โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน พบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้คือ อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะ (ระหว่างล้มตัวลงนอน ก้มหยิบของ) อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป แต่ผู้ที่ป่วยโรคนี้มักมีอาการเป็นซ้ำเกือบทุกวัน แต่จะไม่มีอาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน หรือได้ยินเสียงผิดปกติในหู รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง
- 2. โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน ไมเกรนเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะปวดหัวข้างเดียว มีอาการปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งในบางครั้งแทนที่จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวเป็นอาการที่โดดเด่น แต่กลับกลายเป็นว่ามีอาการเวียนหัวแทน มักจะเป็นๆ หายๆ สลับกันไป เมื่อมีอาการเกิดขึ้นประสิทธิภาพการได้ยินจะลดลง หูอื้อ แพ้แสงจ้า หรือมีการเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย บางครั้งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากเกิดอาการหูอื้อ
- 3. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียการทรงตัว เดินแล้วเซหรือล้มได้ง่าย โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับร่างกายเพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวเพิ่มขึ้นได้
- 4. โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตหลายประเภท ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เลือดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา
- 5. โรคที่เกิดจากความเครียด หรือโรคทางจิตเวช จะเกิดอาการเวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่โล่ง ที่สูง หรือที่ชุมชน แต่อาการจะหายไปเมื่อไม่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อผู้ป่วยเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดอาการหายใจเร็วกว่าปกติมาก (Hyperventilation syndrome) หายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชาและเย็น หรือมือจีบเกร็ง และเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก
การป้องกันและการดูแลตัวเองในโรคเวียนหัว บ้านหมุน
ถ้าผู้ป่วยหายเวียนศีรษะแล้ว ควรป้องกันไม่ให้มีอาการเวียนศีรษะอีก โดย
☀ หลีกเลี่ยงเสียงดัง
☀ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาททรงตัว เช่น aspirin aminoglycoside quinine
☀ หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
☀ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
☀ ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา, เครื่องดื่มน้ำอัดลม, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, งดการสูบบุหรี่
☀ พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว, ลดความเครียด วิตกกังวล และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
☀ หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน (ชา น้ำอัดลม กาแฟ) การสูบบุหรี่
☀ พยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ในระหว่างเกิดอาการ
☀ พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิด อาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล
☀ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ