นอนกรน
นอนกรน หรือ หยุดหายใจ
การนอนกรนพบได้ทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ขึ้นกับสาเหตุต่าง ๆกัน การนอนกรนอาจส่งผลให้แค่เกิดความรำคาญต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิด จนถึงอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้ ดังนั้นมารู้จักโรคนอนกรนให้มากขึ้นกันอีกนิดเพื่อที่เราจะได้ช่วยกันดูแลบุคคลที่เรารักหรือตัวเราเองให้มีสุขภาพที่ดีมากขึ้นกันเถอะค่ะ สาเหตุของการนอนกรน 1. อายุ ยิ่งมากขึ้นยิ่งเพิ่มโอกาสกรน เพราะกล้ามเนื้อหย่อนลง 2. เพศ โดยปกติแล้วฮอร์โมนเพศหญิงจะมีผลให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวมากกว่าทำให้โอกาสกรนน้อยกว่าผู้ชาย แต่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีภาวะขาดฮอร์โมนทำให้อาการนอนกรนมากขึ้นได้ 3. โครงสร้างกระดูกใบหน้า ในคนที่มีคางสั้น หรือลิ้นโตจะมีโอกาสกรนมากกว่า 4. กรรมพันธุ์ 5. ภาวะอ้วน ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง 6. คนที่มีโรคภูมิแพ้จมูก หรือมีอาการแน่นจมูกเรื้อรังจะส่งผลให้มีอาการกรนมากขึ้นได้ 7. การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ เสียงกรนเกิดจากอะไร ?? ในภาวะปกติเมื่อคนเรานอนหลับจะมีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน (soft palate) ลิ้นไก่ (uvula) ผนังคอหอย (pharyngeal wall) หรือ โคนลิ้น (tongue base) ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณนั้นเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น ในบางกรณีที่มีการตีบแคบของกล้ามเนื้อในทางเดินหายใจส่วนบนมากจนทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจหรือมีการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ จะทำให้มีระดับของออกซิเจนในเลือดต่ำลงทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ และสมอง ตามมาได้ อาการที่เกิดขึ้นจากการนอนกรน 1. นอนกรนเสียงดังส่งผลให้เกิดความรำคาญต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิด 2. ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอเนื่องจากมีการขาดการหายใจเป็นช่วงๆ ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย รู้สึกว่านอนไม่พอ ทำให้ความสามารถในการเรียนหรือการปฏิบัติงานลดลง หรือเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานหรือขับรถได้ 3. ความจำแย่ลง สมาธิในการทำงานลดลง อารมณ์หงุดหงิดกว่าปกติ 4. ในเด็กอาจส่งผลให้พัฒนาการของสมองแย่ลงได้ 5. เมื่อมีภาวะขาดออกซิเจนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆจะส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ หรือโรคปอดและ โรคทางสมองตามมาได้ ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ... อาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่เมื่อใดก็ตามที่การนอนกรนนั้นก่อให้เกิดปัญหาต่อบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด หรือต่อคุณภาพชีวิตของตนเองแล้วก็จำเป็นที่จะต้องมาปรึกษาแพทย์ หรือหากท่านสังเกตพบว่าบุคคลใกล้ชิดมีปัญหานอนกรนและมีอาการง่วงเหงาหาวนอนมากกว่าปกติในช่วงกลางวัน หรือสงสัยว่าจะมีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ การตรวจวินิจฉัยภาวะนอนกรน 1. การซักประวัติและตรวจสุขภาพ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการต่าง ๆรวมถึงทำการตรวจร่างกายเพื่อดูว่าท่านมีลักษณะที่ส่งเสริมหรืออาจเป็นสาเหตุให้นอนกรนได้หรือไม่ 2. การตรวจการนอนหลับ ( Polysomnography) เป็นการตรวจวัดที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัยภาวะนอนกรน ช่วยบอกถึงคุณภาพของการนอนหลับว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่ รวมทั้งช่วยบอกระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ การรักษา ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ โดยทั่วไปการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ
• การลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย • หลีกเลี่ยงการกินยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ หรือ ยาแก้แพ้บางชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน • การปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน โดยส่วนใหญ่ภาวะนอนกรน หรือการหยุดหายใจในขณะหลับมักจะเป็นมากขึ้นในขณะที่นอนหงาย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนท่าเป็นการนอนตะแคงหรือนอนศีรษะสูงเล็กน้อยจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะนี้ได้ • การรักษาโดยใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก เพื่อช่วยในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหลับ • การรักษาโรคบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดภาวะนอนกรน เช่นโรคภูมิแพ้จมูก • การรักษาโดยใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม โดยที่อุปกรณ์จะดึงกรามไปด้านหน้าทำให้ทางเดินหายใจเปิดมากขึ้น
เนื่องจากการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจในขณะหลับอาจเกิดขึ้นได้จากการมีกายวิภาคที่ผิดปกติในทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นราย ๆไปว่าผู้ป่วยรายใดที่จะได้ประโยชน์จากการผ่าตัดเพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้นและแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกตินั้น
แนะนำผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับอาหารนอนกรน | ||
Copyright © 2011-2022 www.365wecare.com | Site Map
|